เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถจะออกไปจากมหานรกนั้น
เพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะสัตว์เหล่านั้นทำกรรมชั่วร้ายไว้มาก
ยังให้ผลไม่หมดสิ้น1
ความกลัว ทุกข์และโทมนัสของเขานี้ เกิดมาจากอะไร ความกลัว เกิด คือ
เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏจากโทษของตน ทุกข์ของสัตว์นรกก็ดี ทุกข์ของ
สัตว์ที่เกิดในกำเนิดเดรัจฉานก็ดี ทุกข์ของสัตว์ที่เกิดในเปตวิสัยก็ดี ทุกข์ของมนุษย์ก็ดี
เกิดมาจากอะไร คือ เกิดขึ้นมาจากไหน บังเกิดมาจากไหน บังเกิดขึ้นมาจากไหน
ปรากฏมาจากไหน
ทุกข์เหล่านั้น เกิด คือ เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏจากโทษของตน
รวมความว่า ความกลัวเกิดจากโทษของตน
คำว่า คน ในคำว่า เธอทั้งหลายจงมองดูคนที่มุ่งร้ายกัน ได้แก่ กษัตริย์
พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาและมนุษย์ อธิบายว่า เธอทั้งหลาย
จงมองดู คือ จงแลดู ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดูคนที่มุ่งร้ายกัน คือ คนที่ทะเลาะกัน
คนที่ทำร้ายกัน คนที่ทำร้ายตอบกัน คนที่ขุ่นเคืองกัน คนที่ขุ่นเคืองตอบกัน คนที่
อาฆาตกัน คนที่อาฆาตตอบกัน รวมความว่า เธอทั้งหลายจงมองดูคนที่มุ่งร้ายกัน
คำว่า เราจักกล่าวความสังเวช อธิบายว่า ความสังเวช คือ ความสะดุ้ง
ความหวาดเสียว ความกลัว ความบีบคั้น ความกระทบ ความเบียดเบียน ความ
ขัดข้อง
คำว่า จักกล่าว ได้แก่ จักกล่าว คือ จักบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า เราจักกล่าวความสังเวช
คำว่า ตามที่เราเคยสังเวชมาแล้ว อธิบายว่า ตามที่เราสังเวช คือ สะดุ้ง
ถึงความสังเวชมาแล้ว ด้วยตนเองแล รวมความว่า ตามที่เราเคยสังเวชมาแล้ว
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
1 ขุ.จู. 30/122/247-249

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :484 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ความกลัวเกิดจากโทษของตน
เธอทั้งหลายจงมองดูคนที่มุ่งร้ายกัน
เราจักกล่าวความสังเวชตามที่เราเคยสังเวชมาแล้ว
[171] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เพราะเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่
เหมือนฝูงปลาในบ่อที่มีน้ำน้อย
เพราะเห็นสัตว์ที่ทำร้ายกันและกัน ภัยจึงปรากฏแก่เรา

ว่าด้วยทุกข์ต่าง ๆ
คำว่า หมู่สัตว์ ในคำว่า เพราะเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่ เป็นคำตรัสเรียกสัตว์
อธิบายว่า หมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่ คือ กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา
กระสับกระส่าย ด้วยความดิ้นรนเพราะตัณหา ดิ้นรนเพราะทิฏฐิ ดิ้นรนเพราะกิเลส
ดิ้นรนเพราะทุจริต ดิ้นรนเพราะการประกอบ ดิ้นรนเพราะวิบาก คือ
ผู้กำหนัดก็ดิ้นรนตามอำนาจราคะ
ผู้ขัดเคืองก็ดิ้นรนตามอำนาจโทสะ
ผู้หลงก็ดิ้นรนตามอำนาจโมหะ
ผู้ยึดติดก็ดิ้นรนตามอำนาจมานะ
ผู้ยึดถือก็ดิ้นรนตามอำนาจทิฏฐิ
ผู้ฟุ้งซ่านก็ดิ้นรนตามอำนาจอุทธัจจะ
ผู้ลังเลก็ดิ้นรนตามอำนาจวิจิกิจฉา
ผู้ตกอยู่ในพลังกิเลสก็ดิ้นรนตามอำนาจอนุสัย
ดิ้นรนเพราะลาภ เพราะเสื่อมลาภ เพราะยศ เพราะเสื่อมยศ เพราะสรรเสริญ
เพราะนินทา เพราะสุข เพราะทุกข์
ดิ้นรนเพราะชาติ เพราะชรา เพราะพยาธิ เพราะมรณะ เพราะโสกะ
ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :485 }